นกกาบบัว Mycteria leucocephala (Painted Stork) เป็นนกกระสาชนิดหนึ่ง มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 40 นิ้ว หัวล้านสีส้มอมเหลือง ปากยาวปลายปากเรียวโค้งลงเล็กน้อยสีเหลืองสด คอ ลำตัวด้านบนและด้านล่างเป็นสีขาว มีแถบคาดสีดำที่หน้าอก ขนกลางปีกด้านในเป็นสีชมพู เวลาหุบปีกยืนดูเหมือนเป็นกลีบบัวอยู่บริเวณบั้นท้าย กลางปีก ปลายปีกและหางเป็นสีดำ ขายาวสีเหลือง ส้ม หรือแดง เวลาบินจะไม่หดคอ แต่จะยื่นคอไปข้างหน้า นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน
 |
นกกาบบัว |
นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เป็นนกที่จับคู่เดียวตลอดฤดูผสมพันธุ์ หรืออาจจะตลอดชีวิต นกจะทำรังเป็นกลุ่มก้อน คือมาทำรังบนต้นไม้เดียวกันหรือใกล้ๆกัน และมักจะใช้ต้นไม้ต้นเดิม รังทำจากเศษไม้ กิ่งไม้ทั้งแห้งและสดวางสานกัน จากนั้นก็จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะวางไข่ครั้งละ 3-5ฟอง ขนาดราว 65.9มม.x 45 มม. สีขาวด้านๆไม่มันเงา ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันกกไข่ราว 1 เดือนก็จะฟักเป็นตัว ในระหว่างกกไข่นี้ พ่อหรือแม่นกตัวใดตัวหนึ่งจะต้องเฝ้าอยู่ที่รังเสมอ
 |
นกกาบบัว |
ลูกนกจะมีอายุไม่เท่ากันเพราะพ่อและแม่นกจะกกไข่ทันทีที่ออกมาฟองแรก อยู่ในรังอีกราว 52 – 56 วัน ลูกนกจะเริ่มหัดบิน อาหารที่พ่อแม่นกนำมาป้อนลูกคือปลาหรืออาหารอื่นที่สำรอกออกมาจากกระเพาะ ลูกนกจะโตเต็มที่มีลักษณะเหมือนนกตัวเต็มวัยเมื่ออายุ 3 ปี นกในภาพข้างล่างนี้เป็นนกกาบบัวตัวไม่เต็มวัยที่หากินเองแล้ว พบที่ทุ่งนาแถวลำลูกกาเพียงลำพังตัวเดียว
อาหารของ
นกกาบบัวคือปลา กบ และแมลง โดยนกจะเดินท่องช้าๆไปในน้ำตื้นๆ อ้าปากไว้ครึ่งๆแล้วลากไปมาเพื่อหาเหยื่อ โดยมักพบตามท้องนาที่มีน้ำขังและมีสัตว์น้ำเล็กๆเป็นอาหาร
 |
นกกาบบัว |
นกกาบบัวนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียจากอินเดีย ศรีลังกาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางเหนือจรดตะวันออกเฉียงใต้ของจีนและทางใต้จรดตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ใกล้พรมแดนไทย จัดเป็นนกที่อยู่ในสถานะใกล้จะถูกคุกคาม( Near Threatened )
สำหรับ ประเทศไทย เคยถูกพบหากินตามท้องนา หนองบึงขนาดใหญ่ ห่างไกลบ้านคน ชายทะเลที่เป็นดินเลน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเคยเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้ แต่ปัจจุบันหานกที่ทำรังวางไข่ในธรรมชาติได้ยาก
นกกาบบัวที่มักพบในที่ราบภาคกลางในปัจจุบันอาจเป็นนกอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลจากพม่า หรือเป็นนกที่ปล่อยจากแหล่งเพาะพันธุ์สู่ธรรมชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น