ลักษณะทั่วไป
จัดเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวมีความยาวเกือบ 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะยาวและแบนด้านข้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตามีขนาดเล็ก ไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ซ่อนอยู่ในร่องตรงเลยมุมปาก ในขณะมีชีวิตสีลำตัวจะเป็นสีเทาออกแดงทางด้านหลัง แล้วค่อยๆ กลายเป็นสีเทาแกมฟ้าทางด้านข้าง และสีขาวทางด้านใต้ท้อง มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบเป็นสีเทาจางๆ
ปลาบึก |
ปลาบึกพบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบบ้างในแคว้นฉานของประเทศพม่า และแคว้นยูนาน ในประเทศจีนตอนใต้ ชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย
อาหารได้แก่ สาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำเป็นอาหาร
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล
เชื่อว่าฤดูวางไข่ของปลาบึกจะตกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณนำลึกมีเกาะแก่งมากสะดวกในการผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลาก มันจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง
สถานภาพปัจจุบัน
ในปัจจุบันประเทศไทยโดยทางกรมประมงได้ผสมเทียมปลาบึกเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และในปีต่อมาสามารถเพาะพันธุ์ได้จำนวนมากพอที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏว่าปลาบึกเจริญเติบโตได้ดี แต่ยังไม่ทราบว่าจะผสมพันธุ์วางไข่ได้หรือไม่ ทุกปีจะมีเทศกาลจับปลาบึกขึ้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้ปลาบึกที่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ถูกจับปีละนับร้อยตัว เพื่อนำเอามาขายเป็นอาหารราคาแพง ทำให้ปริมาณของปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงทุกปีๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น