วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรคต้อหินในหนู และสัตว์เลี้ยงชนิดกระเป๋าอื่นๆ

เจ้าของมักจะไม่ทราบล่วงหน้า หากไม่หมั่นสังเกต หนูและสัตว์ใกล้เคียงมักจะพบโรคนี้อยู่เสมอ แล้วจะทราบได้อย่างไร อาการเริ่มแรก จะพบว่าตาแดงอย่างมาก (เปลือกตาขาวมีเส้นเลือดมาก และขยายไปจนถึงตาดำ) ม่านตาขยาย สัตว์เริ่มมองไม่เห็น ตาขุ่น และปัญหามักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการทำการรักษาด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกวิธี (ควรหาอ่านการรักษาโรคนัยน์ตาเบื้องต้น ในช่องบทความ)

Glaucoma หรือต้อหิน คือ การเพิ่มขึ้นของความดันภายในลูกตา ทำให้อาการมองเห็นแย่ลง เนื่องจากมีการทำลายชั้นเรตินา (จอตา) ลูกตาจะโปน แข็งตึง มองจากภายนอกจะพบกระจกตาขุ่น เกิดจากกรรมพันธุ์ได้ โดยมักจะเป็นข้างเดียวก่อน หลังจากนั้นไม่นานอีกข้างก็จะเริ่มเป็น และเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ส่งผลทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงขึ้น เช่น เลนส์เคลื่อนหรือเสื่อม เนื้องอก การอักเสบของดวงตา และอื่นๆ

โรคต้อหินในหนู
การรักษาโรคต้อหิน ทำได้ทั้งทางอายุรกรรมและศัลยกรรม
เป้าหมายในการรักษาทางอายุรกรรม คือ ช่วยทำให้สัตว์ยังคงมองเห็น และลดความเจ็บปวด โดยการลดการสร้างน้ำในลูกนัยน์ตา (Aqueous humor) และเพิ่มการไหลออกจากตา เพื่อควบคุมความดันภายในลูกตาให้ปกติ

แต่หากพบว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดปัญหาต้อหิน จะต้องทำการแก้ไขสาเหตุนั้น เช่น การเลาะเอาเนื้องอกออก การลดการอักเสบของยูเวีย หรือการแก้ไขเลนส์เคลื่อน ในหนูจะพบโรคเบาหวานได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจก ทำให้เลนส์เสื่อม และโน้มน้าวทำให้เกิดโรคต้อหินได้เช่นกัน

ในกรณีที่เจ้าของพบว่าตาเริ่มอักเสบอย่านิ่งนอนใจ รีบนำไปพบหมอ อย่างไรก็ตาม มักจะพบว่าส่วนใหญ่จะรุนแรงเสียแล้ว เจ้าของควรจะเข้าใจในหลักการของการรักษาที่แสนจะยาก สิ่งที่หมอจะต้องทำในกรณีฉุกเฉิน มีดังต่อไปนี้

1. ลดความดันภายในลูกตาเป็นการด่วน โดยการเพิ่มออสโมลาริตี้ในซีรั่ม จะช่วยดึงน้ำและลดการสร้างในช่องนัยน์ตาได้ และให้เห็นผลภายใน 30 นาที (อาจทำร่วมกับการเปิดช่องไหลออกของน้ำในช่องนัยน์ตา)

โรคต้อหินในหนู
โดยการให้ mannitol ขนาด 0.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัวสัตว์ 100 กรัม (gBW) เข้าเส้นเลือด (ในหนูสามารถให้ที่หาง ตัวที่ไม่มีก็ยากหน่อย กระต่ายที่ใบหู) อย่างช้าๆ มากกว่า 15 นาที (หมอจะพิจารณาให้สารน้ำร่วม เพื่อป้องกันการแห้งน้ำในบางราย) ร่วมกับการป้อน glycerol ให้กิน ขนาด 0.2g/100 gBW จะช่วยเสริมประสิทธิภาพกัน และเหมาะกับสัตว์ที่ไม่สามารถให้ทางเส้นเลือดได้ ทั้งสองชนิดอาจจะให้ซ้ำได้อีก 2-3 ครั้ง ห่าง 8-12 ชั่วโมง

2. ให้สารยับยั้งคาร์บอนิก แอนไฮเดรส เพื่อลดการสร้างน้ำในช่องนัยน์ตา โดยให้พร้อมไปกับข้อ 1 ได้ ยาพวกนี้มีหลายตัว (ใช้ได้ พิจารณาการใช้ให้ละเอียด) แต่ที่นำมาใช้ในสัตว์ ได้แก่ acetazolamide ขนาด 0.5-1.5 mg/100 gBW ทุก 8-12 ชั่วโมง โดยการป้อน เหมาะสำหรับรักษาในระยะสั้นๆ หากจะทำการรักษาเพื่อคงระดับความดันไม่ให้สูง จะใช้ dichlorphenamide 0.2 mg/100 gBW q8-12h. PO. กรณีหนูหรือสัตว์เล็กจิ๋ว อาจทำการผสมยาในน้ำ ขนาด 10 mg/ml โดยผสมพวกไซรัปหรือน้ำหวานทานง่ายเข้าไปก็ได้

3. ให้ยาหดม่านตา (Mitotics) เพื่อเพิ่มการขับน้ำออก และเปิดทางไหลออก ยาที่ใช้เช่น pilocarpine ใช้หยอดตา 2 ครั้งต่อวัน อาจจะพบร่วมกับยาตัวอื่น คือ epinephrine จะช่วยเสริมฤทธิ์กัน (ไม่ควรใช้ในกรณีที่พบมีการอักเสบภายในลูกตา หรือเลนส์เสื่อม)

ในกรณีที่ดวงตามีความเสียหายรุนแรงแล้ว ควรพิจารณาร่วมกับการทำศัลยกรรม เช่นการเย็บปิดหนังตา หรือการควีกลุกตาออก ก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อลุกลาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น