วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรคร้ายที่อาจเกิดกับกระต่าย

หนึ่งโรคร้ายที่อาจเกิดกับกระต่ายของคุณได้ง่าย ๆ ก็คือ โรคผิวหนัง โดยมากโรคผิวหนังมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลทำให้กระต่ายมีอาการคัน ขนร่วง เป็นแผล อักเสบและติดเชื้อตามมา อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังในกระต่ายที่พึงระวัง จากการเปิดเผยของสัตวแพทย์ชื่อดัง รศ.ดร.ปานเทพ รัตนากร เนื่องจากพบมากที่สุด มีดังต่อไปนี้

1. ผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน
โรคผิวหนังแบบอักเสบเฉียบพลันชนิดนี้ จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า "สตาฟิลโลคอกคัส ออเรียส" หรือ พาสจูเรลล่า มัลโตซิด้า" พบตามผิวหนังบริเวณหัว ลำคอ หรือทรวงอก
อาการของโรคผิวหนังชนิดเฉียบพลัน
มีลักษณะบวมน้ำ สร้างความเจ็บปวดมาก แต่ก็ยากที่จะรู้หรือเห็นได้ เพราะกระต่ายจะแทบไม่ส่งเสียงเลยส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบ คือ ไข้สูง 40-42 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการซึม ไม่กินอาหาร และหากติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า พาสจูเรลล่า ก็จะทำให้เกิดสะเก็ดหลุดลอก มีน้ำเมือกชุ่มบริเวณจมูก และใบหน้า

อย่างไรก็ตาม กระต่ายที่หายป่วยจากผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน อาจพบได้ว่าเป็นฝีและเนื้อตายภายหลังได้

โรคที่เกิดกับกระต่าย
2. โรคขนสีฟ้า หรือผิวหนังอักเสบแบบเปียก
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย "ซูโดมานาส แอรูจิโนซ่า" พบได้บ่อยในกระต่ายที่มีลักษณะอ้วน หรือมีน้ำหนักมากเกินขนาด หรือกระต่ายที่ป่วยเป็นโรคฟัน มีน้ำลายไหลออกมามากเป็นพิเศษ รวมไปถึงกระต่ายที่กินน้ำเลอะแฉะอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ขนและผิวหนังเปียกชื้นอยู่เสมอ ทำให้เจ้าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดี

ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว จะมีคุณสมบัติพิเศษในการเปลี่ยนสีขนของกระต่ายในบริเวณที่ชื้นแฉะให้กลายเป็นสีออกฟ้า ๆ ซึ่งวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะ และตัดขนออกให้หมด แล้วรักษาความสะอาด ทำให้ตัวแห้งเสมอ

3. โรคชมอลล์ (Schmorl’s Disease)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย "ฟิวโซแบคทีเรียมนีโครโฟรัม" ซึ่งแม้จะพบแต่ในอึกระต่าย ก็สามารถทำให้เกิดโรคบนผิวหนังได้ หากกระต่ายเอาผิวที่มีบาดแผลไปเกลือกกลิ้งกับพื้นที่มีอึปนเปื้อนอยู่ หรือเท้าไปเหยียบเอาเศษอึที่มีเชื้อนี้อยู่ แล้วใช้เล็บเการ่างกาย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อในที่สุด

โดยกระต่ายที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะมีอาการบวม อักเสบ เป็นฝี สุดท้ายก็เป็นแผลหลุม และเนื้อตายตามมา ส่วนมากพบบริเวณใบหน้า คอ และเท้า ซึ่งวิธีการรักษา ทำได้โดยการรักษาแผล ให้ยาปฏิชีวนะ ผ่าฝี ฯลฯ นอกจากนี้ เจ้าของควรหมั่นดูแลความสะอาดเท้าของกระต่าย ด้วยการล้างเท้าให้บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายได้อีกทางหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น