วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ไก่ป่า (Jungle fowl)

ไก่ป่า (Jungle Fowl) มีลักษณะสำคัญที่ผิดกับนกชนิดอื่นๆ คือ บนหัวมีหงอนที่มีลักษณะเป็นเนื้อไม่ใช่หงอนที่เป็นขน มีเหนียงสองข้างห้อยลงมาที่โคนปากและคาง ที่บริเวณหน้าและคอนั้นมีลักษณะเป็นหนังเกลี้ยงๆ ไม่มีขน ส่วนขนตามตัวทั่วๆ ไปมีสีสันสวยงาม ขนหางตั้งเรียงกันเป็นสันสูงตรงกลาง มีขนหาง 14 – 16 เส้น

เส้นกลางยาวปลายแหลมและอ่อนโค้ง แข้งมีเดือยข้างละอันเป็นอาวุธ ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้และสีขนไม่ฉูดฉาดสวยงามเท่าตัวผู้ แข้งไม่มีเดือย หงอนและเหนียงมีขนาดเล็กมาก จนกระทั่งบางตัวแทบจะไม่มี ไก่ป่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ตลอดไปจนถึงประเทศจีน เกาะไหหลำ อินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไก่ป่า เป็นบรรพบุรุษของ ไก่บ้าน แตกต่างกันตรงที่ไก่ป่า มีขาเป็นสีเทาและตรงบริเวณโคนหางมีสีขาวเห็นเด่นชัด

ไก่ป่าดั้งเดิมมีอยู่ 4 ประเภท

ไก่ป่าไทย (Red Jungle fowl)
1. ไก่ป่าไทย (Red Jungle fowl) ตัวผู้มีลักษณะที่สำคัญ คือ หน้าอกและใต้ท้องมีสีดำ ตัวเมียหน้าอกสีน้ำตาลแกมแดง บนหลังมีลายเลือนๆไม่ชัดเจน พบในเอเซีย เช่น อินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย

ไก่ป่าไทย ในประเทศไทยแยกออกเป็นชนิดย่อยอีก 2 ชนิด คือ

- ไก่ป่าตุ้มหูขาวหรือไก่ป่าอีสาน
- ไก่ป่าตุ้มหูแดงหรือไก่ป่าพันธุ์พม่า

ไก่ป่าลังกา (La Fayette’s Jungle fowl)
2. ไก่ป่าลังกา (La Fayette’s Jungle fowl) ตัวผู้มีสีแดงแทบจะทั้งตัว หน้าอกและใต้ท้องก็เป็นสีแดง ผิดกับไก่ป่าไทยซึ่งหน้าอกและใต้ท้องมีสีดำ ปลายปีกและหางสีดำแกมม่วง ตุ้มหูขาว ตัวเมียหน้าอกเป็นลายเลือนๆสีน้ำตาล ปลายปีกและหางมีลายขวาง มีเฉพาะในเกาะลังกา

ไก่ป่าอินเดีย (Sonnerat’s Jungle fowl)
3. ไก่ป่าอินเดีย (Sonnerat’s Jungle fowl) ตัวผู้ขนสร้อยคอกลมมนและมีจุดขาวๆ บนหลัง หน้าอกและใต้ท้องเป็นสีเทามีลายตามขอบขนดำๆ ปลายปีกและหางดำแกมเขียว แข้งสีดำ ตุ้มหูแดง ตัวเมียหน้าอกขาวลายขอบขนดำ ปีกและหางมีลายเลือนๆมีในภาคกลางและภาคใต้ของอินเดีย

ไก่ป่าชวา (Green Jungle fowl)
4. ไก่ป่าชวา (Green Jungle fowl) ตัวผู้ขนสร้อยคอสั้นและกลมมนสีเขียว ตัวเมียหน้าอกสีน้ำตาลคล้ำ ส่วนบนของลำตัวมีลายดำทั่วไป มีในเกาะชวาและหมู่เกาะเล็กๆทางทิศตะวันออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น